โรคมะเร็ง คืออะไร ?

โรคมะเร็ง คือ โรคที่เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตหรือการตายตามธรรมชาติของเซลล์ปรกติได้ (มีความผิดปรกติของพันธุกรรม ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัวและ หรือการตายของเซลล์ปกติ) ทำให้เซลล์เกิดการกลายพันธุ์ เจริญเติบโตอย่างผิดปกติ ร่างกายควบคุมไม่ได้ เกิดเป็นก้อนเนื้อ แผลลุกลาม และแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและเข้าทำลายอวัยวะต่างๆ ดังนั้น ก้อนแผลมะเร็ง คือก้อนเนื้อแผล ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่สามารถหายได้ด้วยการรักษาตามปกติ ก้อนแผลจะโตขึ้นเรื่อยๆ โตเร็ว ลุกลามทำลายเนื้อเยื่ออวัยวะต้นกำเนิด และเนื้อเยื่อ อวัยวะข้างเคียง ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง ในที่สุดก็แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด กระแสน้ำเหลือง แพร่กระจายไปทุกๆอวัยวะ และทุกๆต่อมน้ำเหลือง ทำลายอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ทำให้เกิดการล้มเหลวของอวัยวะนั้นๆ อวัยวะมักเกิดอาการและตรวจพบได้บ่อยคือ ปอด ตับ กระดูก ไขกระดูก สมอง และต่อมน้ำเหลือง ด้วยเหตุนี้โรคมะเร็งจึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิต จากการล้มเหลวในการทำงานของอวัยวะสำคัญต่างๆ ได้แก่ ไขกระดูก ปอด ตับ ไต และสมอง

โรคมะเร็งเกิดจากอะไร?

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็ง แต่จากการศึกษาเชื่อว่า น่าจะมาจากหลายปัจจับเสี่ยงร่วมกัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่
  • อายุ พบว่ายิ่งมีอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสูงขึ้น เพราะมีโอกาสเกิดความผิดปรกติจากการกลายพันธุ์ของเซลล์สูงขึ้น เนื่องจากการต้องซ่อม/สร้างซ้ำๆ/หลายๆ ครั้งของเซลล์ที่ได้รับบาดเจ็บ/เสียหาย จากสาเหตุต่างๆ ตามอายุขัยของแต่ละคน
  • ความผิดปรกติจากพันธุกรรม ซึ่งโรคมะเร็งบางชนิดอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดได้จากครอบครัว บางชนิดมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด โดยเกิดความผิดปกติขึ้นเองตามธรรมชาติของคนคนนั้น และมักเป็นพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการแบ่งตัว หรือการตายของเซลล์ปกติ
  • เชื้อชาติ พบว่าบางเชื้อชาติมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งบางชนิดสูงกว่าเชื้อชาติอื่นๆ เช่น คนจีนตอนใต้ เป็นโรคมะเร็งโพรงหลังจมูกมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น หรือคนผิวขาวเป็นโรคมะเร็งผิวหนังชนิด เมลาโนมาสูงกว่าคนชาติอื่น เป็นต้น
  • การได้รับสารก่อมะเร็งอย่างต่อเนื่อง เช่น จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศ หรือจากการบริโภคอาหาร/น้ำดื่มที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง
  • อาหาร เพราะพบว่าคนที่บริโภคอาหารสุกๆดิบๆ อาหารหมักดอง หรือบริโภคเนื้อแดงสูง มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งบางชนิดสูงกว่าคนบริโภคอาหารมีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ในปริมาณเหมาะสม เช่น โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
  • โรคอ้วน พบว่าคนที่เป็นโรคอ้วนมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งบางชนิดสูงกว่าคนปกติ เช่นโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • มีภูมิคุ้มกัน/ต้านทานร่างกายบกพร่อง พบว่าคนที่มีภูมิคุ้มกัน/ต้านทานบกพร่องมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งสูงกว่าคนปรกติ เช่น คนที่มีเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) หรือในคนปลูกถ่ายอวัยวะที่ได้รับบยากดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • การติดเชื้อโรคบางชนิด ทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา เช่น ในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคมะเร็งตับ และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • จากการได้รับสารเคมีบางชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง จากการประกอบอาชีพ เช่น โรคมะเร็งบางชนิดพบบ่อยในช่างไม้ และบางชนิดพบบ่อยในคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับปิโตรเลียมหรืออุตสาหกรรมทำสีชนิดต่างๆ เช่นโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • การได้รับยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด หรือยาเคมีบำบัด
  • การได้รับรังสีบางชนิดในปริมาณสูงหรืออย่างต่อเนื่อง เช่น จากรังสียูวีในแสงแดดหรือรังสีจากการตรวจรักษาโรค เช่น โรคมะเร็งผิวหนัง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
โรคมะเร็งมีอาการอย่างไร?

โรคมะเร็งไม่มีอาการเฉพาะ แต่จะมีอาการคล้ายคลึงกับการอักเสบทั่วไป แตกต่างกันตรงที่มักเป็นอาการเรื้อรัง ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอาการต่างๆ ไม่สามารถรักษาให้หายด้วยวิธีธรรมดาทั่วไป อาการจากโรคมะเร็งที่พบได้บ่อย ได้แก่
  • มีก้อนเนื้อโตผิดปรกติ/โตเร็ว
  • มีแผลเรื้อรังที่รักษาไม่หายด้วยการรักษาปกติทั่วไป
  • มีไข้เป็นๆ หายๆ หาสาเหตุไม่ได้ เป็นได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำๆ
  • ไอเป็นเลือด
  • เสียงแหบโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • กลืนติด/เจ็บ กลืนลำบาก
  • เสมหะหรือน้ำลายมีเลือดปน
  • เลือดกำเดาไหลบ่อยโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • ท้องผูกสลับกับท้องเสียโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • ตกขาว โดยมักมีกลิ่นด้วย
  • ประจำเดือนผิดปรกติ ทั้งมีมากและ/หรือมีบ่อย
  • มีเลือดออกผิดปรกติ หลังมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • มีเลือดออกทางช่องคลอดภายหลังหมดประจำเดือนแล้ว
  • ซีดโดยหาสาเหตุไม่ได้
  • ห้อเลือดง่าย มีจุดแดงจากการมีเลือดออกที่ผิวหนัง คล้ายอาการของไข้เลือดออก เป็นๆ หายๆ
  • มีอาการปวด ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หรือร่วมกับอาการอื่น เช่น แขน/ขาอ่อนแรงและ/หรือมีอาการชา
  • มีอาการชักโดยไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ปวดศีรษะรุนแรง ร่วมกับอาเจียนและ/หรือแขน/ขาอ่อนแรง
  • ผอมลง น้ำหนักลด โดยหาสาเหตุไม่ได้
  • มีอาการผิดปกติอื่นๆ โดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นอาการเรื้อรัง มีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ดีขึ้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีการรักษาปกติทั่วไป
โรคมะเร็งมีกี่ระยะ?

การจัดระยะโรคมะเร็งมีหลายระบบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความนิยมของแพทย์ว่าจะเลือกใช้ระบบใด แต่โดยทั่วไปนิยมใช้ระบบที่จัดทำโดยคณะกรรมการโรคมะเร็งแห้งประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกว่า จัดระยะโรคมะเร็งในระบบเอเจซีซี (AJCC : American Joint Committee on Cancer) ซึ่งระยะโรคมะเร็งที่ใช้ในหนังสือเล่มนี้ ส่วนใหญ่จะจัดระยะโดยระบบดังกล่าว

โดยทั่วไป โรคมะเร็งมี 4 ระยะ (แต่บางระยะแบ่งย่อยลงไปได้อีก โดยแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นข้อบ่งชี้ทางการรักษา ซึ่งจะยุ่งยากซับซ้อนสำหรับคนทั่วไป จึงไม่กล่าวถึงในที่นี้) ซึ่งทั้ง 4 ระยะจะคล้ายคลึงกันในโรคมะเร็งเกือบทุกชนิด ได้แก่
  • ระยะที่ 1 โรค/ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก ลุกลามอยู่เฉพาะในเนื้อเยื่อ/อวัยวะต้นกำเนิดของมะเร็ง
  • ระยะที่ 2 โรค/ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดปานกลาง ลุกลามไม่มากและอาจมีการลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่เป็นมะเร็ง (แต่เป็นการลุกบามเพียงเล็กน้อย เช่น ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองเพียง 1-2 ต่อม หรือต่อมน้ำเหลืองยังมีขนาดโตไม่เกิน 3 เซนติเมตร)
  • ระยะที่ 3 โรค/ก้อนเนื้อ/แผลมะเร็งมีขนาดโตมาก และ/หรือลุกลามลึกเข้าไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงมาก และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง ใกล้ๆอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง โดยลุกลามอย่างมาก มากกว่า 1-2 ต่อม
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งระยะที่ 4 เป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงของโรคสูงสุด โดยทั่วไปแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่มีโรคลุกลามรุนแรง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจาย และกลุ่มที่มีการแพร่กระจายของโรคแล้ว โดยโรคระยะที่ 4 ชนิดที่มีการแพร่กระจาย เป็นระยะที่โรคมะเร็งไม่มีโอกาสรักษาหายได้เป็นระยะโรคที่รุนแรงที่สุด แต่ถ้าเป็นโรคระยะที่ 4 ชนิดลุกลามรุนแรง แต่ยังไม่มีการแพร่กระจายจะมีโอกาสรักษาได้หาย ถึงแม้โอกาสรักษาหายจะน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับในโรคมะเร็งระยะอื่นๆก็ตาม
โรคมะเร็งระยะที่ 4 ชนิดที่มีโรคลุกลามรุนแรง แต่ยังไม่มีก่รแพร่กระจาย ได้แก่ โรคมะเร็งในระยะที่มีการลุกลามโดยตรงอย่างรุนแรง จากก้อน/แผลมะเร็งเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะที่อยู่รอบๆ/ข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดการทะลุของเนื้อเยื่อ/อวัยวะนั้น และ/หรือลุกลามรุนแรงเข้าเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงพร้อมๆกันหลายๆเนื้อเยื่อ/อวัยวะ และ/หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองใกล้อวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง โดยต่อมน้ำเหลืองมีขนาดโตมาก (เกิน 6 เซนติเมตร) หรือลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงหลายๆต่อม แต่อย่างไรก็ตาม จะยังไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด หรือกระแสน้ำเหลือง

โรคมะเร็งระยะที่ 4 ชนิดที่มีการแพร่กระจาย ได้แก่
  • ระยะที่มีการแพร่กระจายของโรคมะเร็ง ไปยังอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ไกลออกไปจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต้นกำเนิดโรคมะเร็ง เป็นการแพร่กระจายเข้าทางกระแสเลือด มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด ตับ กระดูก ไขกระดูก และสมอง
  • ระยะที่โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่กระแสน้ำเหลือง ไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลออกไปจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต้นกำเนิดมะเร็ง ตัวอย่างเช่น ในโรคมะเร็งปากมดลูก เมื่อมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ปากมดลูกคือ ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน/ช่องท้องน้อย จัดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 แต่เมื่อแพร่กระจายตามกระแสน้ำเหลืองไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ไกลจากปากมดลูก คือต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องและ/หรือต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า จะจัดเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4 ชนิดแพร่กระจาย
ระยะของโรคมะเร็งแต่ละชนิดที่เขียนไว้ในแต่ละเรื่องต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ ได้ใช้การจัดระยะโรคมะเร็งแบบระบบเอเจซีซีฉบับใหม่ล่าสุดจะเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2553 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 7) ซึ่งได้มีการปรับปรุงจากเดิม (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 ที่มช้ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2543-2552) อย่างไรก็ตาม มีการปรับปรุง/ปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพีงโรคมะเร็งบางชนิดเท่านั้น และเป็นการปรับเปลี่ยนที่มีความแตกต่างจากเดิมไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นการปรับเปลี่ยนในระยะย่อยๆของโรค เช่น โรคมะเร็งบางชนิด เดิมมีเพียงระยะที่ 4 ก็จะแบ่งย่อยเพิ่มเป็น ระยะ 4A 4B และระยะ 4C ซึ่งระยะย่อยเหล่านี้ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งจะใช้เพื่ออธิบายผลทางการรักษาและการศึกษา และในช่วง 2-3 ปีแรกของการปรับเปลี่ยน


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคมะเร็งระยะที่เท่าไหร่?

แพทย์โรคมะเร็งจะให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งระยะที่เท่าใด ไปพร้อมๆกับการตรวจร่างกายเพื่อประเมินสุขภาพของผู้ป่วย วิธีการตรวจที่สำคัญในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งระยะที่เท่าไร คือ การสอบถามประวัติอาการต่างๆ การตรวจไตและสมดุลของเกลือแร่
  • เอกซเรย์ปอด ดูการทำงานของปอด/หัวใจ และการแพร่กระจายของมะเร็งเข้าสู่ปอด
  • ตรวจภาพอวัยวะต้นกำเนิดมะเร็งด้วยการเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และ/หรือเอ็มอาร์ไอ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อดูการลุกลามของก้อน/แผลมะเร็ง
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ (sonogram) หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ตับ ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และ/หรืออาการของผู้ป่วย เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเข้าสู่ตับ
  • ตรวจกระดูก อาจโดยการสแกนกระดูกทั้งตัว ตามอาการของผู้ป่วยและ/หรืแข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อดูการแพร่กระจายของโรคมะเร็งเข้าสู่กระดูก
  • การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม ตามอาการของผู้ป่วยและ/หรือข่อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น การส่องกล้อง การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจไขกระดูก และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ เช่น การสแกนกระดูกหรือเพ็กสแกน
โรคมะเร็งมีวิธีรักษาอย่างไร?

วิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด รังสีรักษา เคมีบำบัด ฮอร์โมน (ใช้รักษาเฉพาะโรคมะเร็งชนิดที่มีธรรมชาติของโรคตอบสนองต่อฮอร์โมน) และการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ (ใช้รักษาในบางระยะของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แต่การรักษายังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึง)

ส่วนการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆ ก็เช่น ยารักษาตรงเป้า ชีวสารรักษา การปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ และการปลูกถ่ายไขกระดูก/สเต็มเซลล์ในโรคมะเร็งชนิดอื่น (นอกเหนือจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว/โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง) ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา และวิธีการเหล่านี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เกินกว่าผู้ป่วยทุกคนจะเข้าถึง

นอกจากนี้ วิธีการรักษาที่สำคัญอีกวิธีหนึ่ง คือ การรักษาประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป ซึ่งใช้รักษาโรคมะเร็งในผู้ป่วยทุกคนและในโรคมะเร็งทุกระยะ และใช้ร่วมกับวิธีการต่างๆ ในการรักษาตัวโรคมะเร็ง (ผ่าตัด รังสีรักษา หรือเคมีบำบัด)

ส่วนการรักษาด้วยการแพทย์สนับสนุนและการแพทย์ทางเลือก มีบางวิธีการที่แพทย์นำมาใช้ร่วมกับวิธีการรักษาหลัก แต่หลายวิธียังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าได้ประโยชน์

(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ในเรื่อง โรคมะเร็งชนิดต่างๆ)

การรักษาโรคมะเร็งระยะที่ 1 เป็นการรักษาเพื่อหวังผลหายขาด อาจใช้วิธีการรักษาหลักเพียงวิธีการเดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์มะเร็งและ/หรืออวัยวะที่เป็น เช่น ผ่าตัดเพียงวิธีการเดียวหรือรังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว ยกเว้น เมื่อเป็นโรคระยะที่ 1 แต่เป็นชนิดที่มีความรุนแรงโรคสูง (แพทย์ทราบได้จากลักษณะทางพยาธิวิทยาของโรคมะเร็งชนิดนั้นๆ เช่นมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งเข้ากระแสเลือดหรือกระแสน้ไเหลือง) ก็อาจมีการรักษาร่วมกันหลายวิธีการ เช่นการผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือเคมีบำบัด
การรักษาโรคมะเร็งระยะที่ 2 เป็นการรักษาเพื่อหวังผลหายขาด ในโรคมะเร็งบางชนิดที่มีความรุนแรงของโรคต่ำ อาจยังคงใช้วิธีการรักษาเพียงวิธีการเดียว แต่ส่วนใหญ่มักใช้หลายวิธีร่วมกัน เช่น การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและ/หรือเคมีบำบัด
การรักษาโรคมะเร็งระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ชนิดที่มีการลุกลามรุนแรงแต่ยังไม่แพร่กระจาย ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ถึงแม้โอกาสรักษาหายจะต่ำกว่าในโรคมะเร็งระยะที่ 1 และ 2 แต่แพทย์ก็ยังคงให้การรักษาโดยหวังผลหายขาด และมักใช้การรักษาหลายวิธีการร่วมกัน
แต่ในผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่ดีและผู้ป่วยสูงอายุ ซึ่งมักทนผลข้างเคียง/แทรกซ้อนจากการรักษาเพื่อการหายขาดไม่ได้ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการบรรเทา/ประทังอาการ และการรักษาเพื่อประคับประคอง/พยุงอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป

โรคมะเร็งระยะที่ 4 ชนิดที่มีการแพร่กระจาย ซึ่งเป็นโรคในระยะที่รักษาไม่หาย หากผู้ป่วยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แพทย์จะให้การรักษาโดยการบรรเทา ประทังอาการ แต่ถ้าผู้ป่วยสุขภาพไม่ดีหรือเป็นผู้ป่วยสูงอายุ แพทย์จะให้การรักษาโดยการประคับประคอง/พยุงตามอาการ/การรักษาทางอายุรกรรมทั่วไป

ที่มา:
https://www.honestdocs.co/what-is-cancer

อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง วิธีการรักษาโรคมะเร็ง หัวข้ออื่นๆ ได้ที่ 
https://bit.ly/2SlVFq2

หากต้องการหาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่จำเป็น สำหรับการดูแล ผู้ป่วยมะเร็ง   ลองแวะเข้าไปศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ POLY CAN เพิ่มเติมได้ที่ 

หากต้องการหาผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารที่จำเป็น สำหรับการดูแล ผู้ป่วยมะเร็ง ลองแวะเข้าไปศึกษาข้อมูลผลิตภัณฑ์ KRN เพิ่มเติมได้เลยนะครับ  


ถ้าคุณชอบ ช่วยกด Like ถ้าคุณคิดว่าใช่ ช่วยกด Share กับ Line it ให้หน่อย นะคะ!

 

สร้างโดย : Admin  เมื่อวันที่ : 3/2/2562
แก้ไขล่าสุดโดย : Admin
เมื่อวันที่ : 21/12/2562 19:45:09
จำนวนผู้เข้าชม 4248 ครั้ง

Related Articles


ถ้าคุณชอบ ช่วยกด Like ถ้าคุณคิดว่าใช่ ช่วยกด Share

 

Powered by Aladin Plaza